วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เสริมพัฒนาการทางอารมณ์ให้ลูกน้อย

ปรับสภาพแวดล้อมเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ให้ลูกน้อย






         การแสดงออกทางอารมณ์เป็นลักษณะพิเศษที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในมนุษย์ ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเริ่มแสดงอารมณ์แบบหยาบได้ตั้งแต่วัยทารกและจะพัฒนาการแสดงอารมณ์ได้ละเอียดอ่อนขึ้นตามวัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน แต่ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาทางอารมณ์มากที่สุดก็คือสภาพแวดล้อมนั่นเอง 

เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์อย่างไร? เมื่อแรกเกิดจนกระทั่งเติบโต เด็กจะมีการแสดงออกทางอารมณ์ซึ่งติดตัวมาตามธรรมชาติเพื่อให้เด็กสามารถบรรลุความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย ซึ่งได้แก่ความต้องการอาหาร การเอาใจใส่ ความรัก ความปลอดภัย อิสระภาพ เป็นต้น และการแสดงออกทางอารมณ์เหล่านี้จะพัฒนาขึ้นได้ ด้วยการเพาะบ่มจากสภาพแวดล้อมอีกทีหนึ่ง ซึ่งอารมณ์โดยพื้นฐานของเด็กจะถูกแบ่งออกเป็น 4 อารมณ์ด้วยกัน คือ 
  1. อารมณ์โกรธ
    ความโกรธเป็นอารมณ์ที่เกิดจากความคับข้องใจ จากการถูกห้ามหรือขัดขวางไม่ให้ทำในสิ่งที่เด็กอยากทำหรืออยากได้ โดยมีระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและความสำคัญของสิ่งนั้น ว่ามีความสำคัญกับจิตใจของเด็กมากน้อยเพียงใด เช่น หากเด็กทารกไม่ได้รับของเล่นก็จะร้องไห้สักพัก แล้วก็จะลืมไปเอง แต่ถ้าเป็นเด็กอายุ 2 ขวบ ก็จะร้องไห้และอาจมีการแสดงอารมณ์ด้วยการขว้างปาสิ่งของ เป็นต้น
  2. อารมณ์กลัว
    ความกลัวเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่มักเกิดเวลาที่เด็กไปเจอกับสิ่งแปลกใหม่โดยไม่ทันตั้งตัว เช่น ตุ๊กตาตัวใหม่ เพื่อนบ้านคนใหม่ เป็นต้น เด็กจะแสดงความรู้สึกถึงอารมณ์กลัว ด้วยการถอยหนี เบือนหน้า จนถึงขั้นร้องไห้ นอกจากนี้เด็กยังสามารถลอกเลียนความกลัวได้จากคนรอบข้าง เช่น เมื่อผู้ใหญ่แสดงอาการกลัวผีเด็กก็จะจดจำและเกิดความกลัวผีตามไปด้วย
  3. อารมณ์รัก
    ความรักเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องการการเอาใจใส่ ซึ่งความรักจากพ่อแม่คือความรักที่เด็กต้องการมากที่สุด นอกจากนี้เด็กยังสามารถพัฒนาอารมณ์รักให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากอยากให้คนอื่นมารักมากขึ้น ซึ่งเด็กจะแสดงออกถึงอารมณ์รักด้วยการอยากอยู่ใกล้กับคนที่รัก อยากกอด อยากหอม และจะเชื่อฟังปฏิบัติดีกับคนที่เด็กรัก
  4. อารมณ์อิจฉาริษยา
    ความอิจฉามีผลต่อเนื่องมาจากอารมณ์รัก ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อเด็กต้องสูญเสียความรักที่เคยได้รับ หรือเมื่อเด็กเห็นว่าผู้อื่นได้รับความรักที่มากกว่า โดยเด็กอาจจะแสดงท่าทีไม่สนใจ ไม่ใส่ใจกับบุคคลนั้น ซึ่งพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดกับเด็กมาที่สุด จะเป็นผู้ที่ทำให้เด็กเกิดอารมณ์อิจฉาได้ง่ายที่สุด เนื่องจากเด็กต้องการความรักความสนใจจากคนใกล้ชิด และเด็กมักรู้สึกว่าตนต้องแข่งขันกับเด็กคนอื่นอยู่เสมอ

ทั้งนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ ซึ่งเด็กจะค่อยๆ ปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมนั้นๆ 

เด็กปรับตัวกับสภาพแวดล้อมอย่างไร สภาพแวดล้อม หมายถึง สถานที่ที่เด็กอาศัยอยู่หรือพบเจออยู่เป็นประจำ ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีผลต่ออารมณ์ของเด็กมากที่สุดก็คือครอบครัวนั่นเอง โดยพ่อแม่หรือผู้ดูแลควรเป็นผู้สอนความรู้ ฝึกสอนทักษะทางสังคม ฝึกระเบียบวินัย ความอดทน ให้เด็กสามารถพัฒนาอารมณ์ของตนเอง ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย 5 เทคนิคเพื่อความฉลาดทางอารมณ์ของลูก 
  1. ให้ความรักความเข้าใจ 
    รับฟัง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่เด็กสนใจ ทุกครั้งที่ต้องตำหนิ สร้างกฎเกณฑ์ หรือลงโทษ ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลเสมอ โดยที่พ่อแม่ต้องระวังการแสดงอารมณ์ที่อาจเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ลูก
  2. รับฟังความรู้สึกและอารมณ์ของเด็กอย่างจริงใจ 
    พยายามรับฟังและตรวจสอบความรู้สึกของเด็กอยู่เสมอ โดยพิจารณาจากสถานการณ์และกิริยาท่าทางของเด็ก จากนั้นซักถามและอธิบายว่าความรู้สึกเหล่านี้เรียกว่าอารมณ์แบบไหน พร้อมธิบายเหตุผลและวิธีการควบคุมอารมณ์ในลักษณะแนะนำ ไม่ใช่ชี้นำหรือบังคับ
  3. ฝึกเปิดเผยความรู้สึก 
    ความรู้สึก ฝึกให้เด็กบอกหรือธิบายความรู้สึกของตนเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการเก็บกดอารมณ์ แล้วมาระเบิดออกโดยขาดการควบคุมอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อคนรอบข้างและตัวเด็กเอง ดังนั้นพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดควรฝึกให้เด็กกล้าที่จะบอกความรู้สึกและรับฟังอย่างตั้งใจ
  4. อารมณ์คือเรื่องธรรมดาที่ต้องพอดี
    เมื่อเห็นว่าเด็กมีความเข้าใจอารมณ์พอสมควรแล้ว พ่อแม่ควรอธิบายต่อ ว่าการแสดงอารมณ์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องรู้จักระมัดระวังการแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมกับบุคคล เวลาและสถานที่เหล่านั้นด้วย


เมื่อเด็กรู้จักที่จะแสดงอารมณ์และควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมแล้ว ก็จะเป็นเส้นทางที่นำให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจ และมีความสุขในสังคมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น