วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เสริมพัฒนาการเด็กวัย 0-1 ขวบ

เสริมพัฒนาการเด็กวัย 0-1 ขวบ





ของเล่นหรือการเล่นมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างมาก ถือว่าเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต ดังนั้นถ้าพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูได้เข้าใจและสามารถนำของเล่นหรือกิจกรรมการเล่นไปใช้กับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ทักษะพัฒนาการและการเรียนรู้เด็กจะก้าวไปอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเด็กมีพื้นฐานทางพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมกับวัย เด็กจะสามารถนำประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ

ความหมายของการเล่นของเด็ก

การเล่นเป็นกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กเกิดการรับรู้ที่ดี ตลอดทั้งให้เด็กได้เรียนรู้ตัวเองและบุคคลอื่นโดยไม่รู้ตัว และนอกจากนี้การเล่นยังมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทอีกด้วย

ประโยชน์ของการเล่นของเด็ก

1. ช่วยเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาการในทุกด้าน
2. ช่วยเสริมสร้างการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
3. ช่วยพัฒนาด้านสติปัญญา เสริมสร้างจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
4. ช่วยพัฒนาความสามารถในด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะคำศัพท์
5. ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง
6. ช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดีทางสังคม เช่น การแบ่งปัน (sharing) การผลัดเปลี่ยน (turn taking) การช่วยเหลือ (co-operation) การอดทนต่อการรอคอยความยืดหยุ่น (flexibility)
7. ช่วยเสริมสร้างให้เด็กรู้จักตนเองได้ดีขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ได้กระทำ
8. ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตและอารมณ์ที่ดี
9. ช่วยพัฒนาและส่งเสริมบทบาททางเพศ และบทบาทสมมติ
10. ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างความสนใจและสมาธิ

พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กวัย 0-1 ปี           

เด็กวัยนี้เรียนรู้ผ่านการเล่น และเรียนรู้ผ่านทางการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตาดู หูฟัง จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส และผิวหนังรับสัมผัส ในวัยนี้เด็กมักชอบนำของทุกชนิดเข้าปาก โดยใช้ปากในการสำรวจของนั้น ๆ ทั้งดูด เลีย อม พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ทักษะเหล่านี้โดยหาของเล่นที่มีขนาดเหมาะมือ น้ำหนักเบา ขนาดไม่เล็กจนเกินไป ปลอดภัย ล้างทำความสะอาดง่าย เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะในการใช้มือและตาประสานกันในการคว้าจับ เขย่า เอาเข้าปาก พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูไม่ควรดึงมือหรือของเล่นออกจากปากเด็ก เพราะจะทำให้เด็กหงุดหงิด อารมณ์เสีย และขาดโอกาสในการใช้ปากสำรวจเพื่อการเรียนรู้ และที่สำคัญพ่อแม่ควรพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกขณะชี้ชวนให้ลูกเล่นอีก ด้วย

อุปกรณ์ของเล่นเด็กและเกมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กวัย 0-1 ปี

วัสดุอุปกรณ์ / เกม วงแหวนที่มีลักษณะพื้นผิว แตกต่างกันอาจเป็นพลาสติกแข็ง ยางนิ่ม หรือ ผ้า ฯลฯ (อายุ 3-8 เดือน)
ประโยชน์ เด็กวัยนี้มักนำของเล่นเข้าปาก ใช้ปากในการดูด อม เลีย ใช้เหงือกย้ำ กัดเล่น เพื่อฝึกความแข็งแรงของเหงือก และยังอาจสามารถลดอาการเจ็บขณะที่ฟันของเด็กวัยนี้กำลังขึ้นได้ โดยนำวงแหวนพลาสติกยางไปแช่ตู้เย็น ความเย็นจากยางจะลดอาการเจ็บได้ขณะที่เด็กกัดเล่น

วัสดุอุปกรณ์ / เกม โมบายพวงวัสดุที่เป็นรูปสัตว์หรือ ดอกไม้ ที่มีสีสันสดใส แขวนไว้ที่หัว เตียงหรือเปล ซึ่งอาจมีเสียงดนตรีประกอบด้วย (อายุ 3-5 เดือน)
ประโยชน์ เพื่อ ฝึกการใช้สายตาในการมองวัตถุขณะเคลื่อนไหว ขณะที่เด็กนอนเล่นอยู่บนเตียง แขวนโมบายอยู่เหนือศีรษะเด็กเพื่อให้เด็กได้ใช้สายตามองดูขณะของเล่นแกว่งไป มา เด็กจะสนใจมองดูการเคลื่อนไหวของวัตถุ และยังสามารถฝึกการฟังเสียงดนตรีของเครื่องเล่นอีกด้วย

วัสดุอุปกรณ์ / เกม ตุ๊กตายางผิวหยาบหรือนิ่ม อาจทำ จากผ้าหรือพลาสติกยาง ซึ่งอาจบีบ มีเสียง / ไม่มีก็ได้ (อายุ 4-12 เดือน)
ประโยชน์ เพื่อ ฝึกคว้าจับและสัมผัส โดยใช้ของเล่นที่มีพื้นผิวสัมผัสที่ต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบจับ สัมผัส ลูบ คลำ บีบเล่น หรือโยนเล่น กลิ้งเล่น และฝึกการฟังเสียงต่าง ๆ กันของ ของเล่นขณะบีบ เขย่า เคาะ ตลอดทั้งฝึกจับของเล่นเปลี่ยนมือได้อีกด้วย

วัสดุอุปกรณ์ / เกม เครื่องเขย่าให้เกิดเสียง ได้แก่ กรุ๋งกริ๋ง กระดิ่ง ซึ่งอาจมีขนาดและ น้ำหนักที่แตกต่างกันตามความ เหมาะสมของเด็กแต่ละคน (อายุ 3-12 เดือน)
ประโยชน์ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการจับและคว้าของเล่น การฟังเสียงของของเล่นที่มีความแตกต่างกัน เด็กวัยนี้ชอบคว้า จับ เขย่า เคาะของเล่นเพื่อให้เกิดเสียงต่าง ๆ รวมทั้งสามารถกระตุ้นให้เด็กได้สนใจมองขณะที่เด็กมีกิจกรรมในการจับเขย่า เคาะเล่นอีกด้วย
 
วัสดุอุปกรณ์ / เกม กระจกเงา (อายุ 4-12 เดือน)
ประโยชน์ เพื่อฝึกการมองและการสังเกตการเคลื่อนไหวของหน้าตา และท่าทางขณะมองเล่น เด็กวัยนี้มักชอบมองเงาตัวเอง และสิ่งอื่น ๆ ในกระจก

วัสดุอุปกรณ์ / เกม ของเล่นไขลาน เช่น ลูกเป็ด ลูกไก่ และอื่น ๆ ซึ่งอาจมีเสียงดนตรี ประกอบ
ประโยชน์ ขณะที่ของเล่นไขลานเคลื่อนไหว เด็กสนใจ ละมองตามการเคลื่อนไหวของของเล่นเหล่านั้น ตลอดทั้งกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวตัวเองอีกด้วย เช่น เด็กอาจจะคืบ คลาน หรือเกาะเดิน เหนี่ยวตัวลุกยืน เกาะยืน เพื่อให้ได้ของเล่นเหล่านั้น
 
วัสดุอุปกรณ์ / เกม วัสดุรูปทรงเรขาคณิต อาจเป็นผ้า กล่องสีต่าง ๆ ก้อนไม้ หรือก้อน พลาสติกที่มีขนาดต่าง ๆ กัน
ประโยชน์ เพื่อฝึกการสังเกตรูปร่าง รูปทรง และจับกำ ซึ่งภายในกล่องสีต่าง ๆ อาจใส่เม็ดถั่ว / เม็ดพลาสติก ไว้ข้างในได้ เมื่อเด็กเขย่า / เคาะ แล้วเกิดเสียง เพื่อกระตุ้นการฟังและความสนใจของเด็กในขณะเล่นของเล่นมากขึ้น
วัสดุอุปกรณ์ / เกม หมุดหรือไม้สี ซึ่งมีขนาดใหญ่ อาจ ทำด้วยไม้หรือพลาสติก พร้อม กระดานมีรู
ประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างการใช้ปลายนิ้วในการหยิบ หรือยัดนิ้วใส่ลงในรู หรือในช่องที่เจาะไว้บนกล่อง เด็กวัยนี้เริ่มใช้ปลายนิ้วหยิบ หรือใช้นิ้วยัดใส่รู หรือช่องที่เจาะไว้
วัสดุอุปกรณ์ / เกม เกมจ๊ะเอ๋ (อายุ 7 เดือน – 1 ปี)
ประโยชน์ เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการค้นหาวัตถุที่หายไป ตลอดทั้งฝึกความสนใจ สมาธิในการฟังจังหวัดของเสียง และยังเป็นการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ด้วย โดย ผู้ใหญ่อาจใช้มือ
วัสดุอุปกรณ์ / เกม เกมปูไต่
ประโยชน์ เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รับการฟังเสียง ฝึกความสนใจ มีการจับจ้องมองหน้าแม่ ตลอดทั้งได้รับรู้ถึงการสัมผัสจากวัตถุที่มีความแตกต่างกันของพื้นผิว สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก รวมถึงพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีของเด็กด้วย โดยผู้ใหญ่ใช้ปลายนิ้วหรือของเล่น หรือวัสดุที่มีพื้นผิวต่าง ๆ กัน เช่น ผ้า ฟองน้ำ ตุ๊กตายาง ไล้ไปบนผิวเด็กในทุกจุดของร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ขณะเล่นเกมผู้ใหญ่ควรพูดคุย หัวเราะ และยิ้ม สร้างบรรยากาศให้เด็กสนุกสนานไปด้วย ตลอดทั้งจุดต่าง ๆ ที่ลูบไล้ สัมผัสไปบนผิวเด็ก ควรบอกให้เด็กได้รับรู้ด้วย เช่น “แม่กำลังลูบไล้มือของลูกนะ” อาจร้องเพลงขณะเล่นปูไต่ด้วยก็ได้
วัสดุอุปกรณ์ / เกม เกมจับปูดำ (อายุ 9-12 เดือน)
ประโยชน์ เกม นี้เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือในการเปิด-ปิดมือหรือกำ-แบมือ ตลอดทั้งเด็กเริ่มสามารถเลียนแบบท่าทางกำมือ แบมือจากพ่อแม่ในขณะเล่นเกมนี้ โดยขณะเล่นผู้ใหญ่ควรร้องเพลง “จับปูดำขย้ำปูนา จับปูม้า มาคว้าปูทะเล” ร่วมด้วย เด็กจะเกิดความสนุกสนาน และสร้างเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย รวมทั้งเป็นการฝึกการฟัง ความสนใจ และสมาธิให้กับเด็กอีกด้วย
วัสดุอุปกรณ์ / เกม เกมตบมือเปาะแปะ (อายุ 9-12 เดือน)
ระโยชน์ เกมนี้เพื่อฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมือทั้ง 2 ข้าง และเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในขณะเล่นด้วย ตลอดทั้งให้เด็กฟังจังหวะในขณะตบมือและเพิ่มความสนุกสนานให้กับเด็กอีกด้วย โดยผู้ใหญ่จับมือเด็กมาตบมือกันหรือเด็กตบมือเอง เมื่อผู้ใหญ่กระตุ้นให้เด็กทำตาม อาจใช้คำกลอนหรือเพลงที่เกี่ยวข้องกับการตบมือมาประกอบด้วยก็ได้ เช่น คำกลอน “ตบมือเปาะแปะ เรียกแพะมากินนม นมไม่หวานเอาน้ำตาลมาใส่” หรือเพลงตบมือ “เรามาตบมือกันดีกว่า (3 ครั้ง) แล้วเราชวนกันร้องเพลง
วัสดุอุปกรณ์ / เกม เกมค้นหาของเล่น
ประโยชน์ เกมนี้เพื่อฝึกให้เด็กได้รู้จักใช้ความคิดในการแก้ปัญหาอย่างง่าย ในการค้นหาของเล่น ซึ่งผู้ใหญ่อาจช่วยชี้แนะได้บ้าง เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกถึงความสำเร็จในการทำงาน ตลอดทั้งเด็กได้รับการฝึกประสบการณ์เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ (object permanent) โดยผู้ใหญ่ใช้ผ้าห่อกระดาษปิดของเล่นในขณะที่เด็กเล่นอยู่ อาจจะปิดบางส่วนหรือปิดทั้งหมดของของเล่นก็ได้ ซึ่งเด็กจะพยายามค้นหาของเล่นโดยการดึงผ้าหรือกระดาษออก
วัสดุอุปกรณ์ / เกม กะบะทราย / ข้าวสารย้อมสี หรือ เม็ดถั่วต่าง 
ประโยชน์ เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสทางการจับ หยิบ ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยการใช้ปลายนิ้วหยิบจับวัตถุที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ตลอดทั้งเพิ่มพูนทักษะการประสานงานระหว่างมือและตา รวมทั้งฝึกทักษะทางสังคม รู้จักมีการให้และรับ (turn-taking) สร้างลักษณะนิสัยที่ดีและเหมาะสม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่ยังเด็ก โดยการนำทราย หรือข้าวสารย้อมสีหรือเม็ดถั่วต่าง ๆ ใส่กะบะ และใช้อุปกรณ์การเล่นทราย หรืออาจประยุกต์ใช้อุปกรณ์ในครัวเรือน เช่น จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ ฯลฯ มาร่วมในเกมนี้

ข้อแนะนำในการเล่นของเด็กวัย ๐-๑ ปี            

เด็กจะมีพัฒนาการเพิ่มขึ้นตามอายุ จากนอนเฉยเมื่อแรกเกิดจนสามารถพลิกคว่ำ หงาย คืบ คลาน นั่ง ยืน และเดิน รู้จักไขว่คว้าของเล่นในทิศทางต่าง ๆ กัน ชอบเอาของเล่นเข้าปาก เด็กจะมีความสุขและสนุกมากที่จะนำของเล่น / วัสดุต่าง ๆ เข้าปาก เพื่อกัด ย้ำ เลียเล่น ซึ่งทักษะเหล่านี้ถือเป็นการเรียนรู้ของเด็ก
โดยการใช้ปากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ ในการสัมผัสวัตถุ / ของเล่น การใช้ตาและมือประสานงานกัน สามารถจับวัตถุ / ของเล่น เข้าปากได้อย่างถูกต้องแม่นำ และได้เรียนรู้การสัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกันของวัตถุ จากการจับ กัด ดูด หรือเลีย
พ่อแม่หรือผู้ใหญ่บางท่านอาจไม่เข้าใจถึงพฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ จึงจำกัดหรือห้ามปรามไม่ให้เด็กอาของเข้าปาก อาจเพราะกลัวสกปรกหรือสำลัก ซึ่งจะทำให้เด็กหงุดหงิด อารมณ์เสีย และไม่เกิดการเรียนรู้
ดังนั้นพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดควรเข้าใจในพฤติกรรมของเด็กและส่งเสริม การเรียนทักษะเหล่านี้ให้ถูกต้องเหมาะสมรวมทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัยในการ เล่นของลูก
โดยเฉพาะอุปกรณ์การเล่นควรที่จะมีขนาดใหญ่ สีสันปลอดภัย จับ/ กำถนัดมือ สามารถให้เด็กได้สัมผัสผ่านการกัด ดูด เลียได้ ขนาดและน้ำหนักต้องเหมาะสมกับเด็กแต่ละคน สามารถล้าง / ซัก
อุปกรณ์ของเล่นได้เมื่อสกปรก ตอลดทั้งพ่อแม่ควรมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กระหว่างการเล่นอีกด้วย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียวเพราะเด็กยังไม่รู่จักว่าของเล่นแต่ละชิ้นมี วิธีการเล่นอย่างไร
ขอขอบคุณที่มา : ประภาศรี นันท์นฤมิต หน่วยพัฒนาการและเจริญเติบโต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาฯ
ดังนั้นไม่ว่าจะข้อไหน ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการ และความสุขในแบบที่ทำได้ เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็รับรู้ความสุขแบบเต็มที่แล้วละค่ะ และอย่าลืมวางแผน ตระเตรียมของใช้เด็ก ของเล่นเด็ก ไว้เพื่อเวลาคุณแม่หลังคลอดด้วยนะค่ะ การเลือกซื้อของใช้เด็กที่ดี ควรเลือกที่ได้มาตราฐานทั้งความปลอดภัยและคุณภาพสินค้านะค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น